วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การวิจัย

การวิจัย หมายถึง การค้นหาความรู้ความจริงด้วยวิธีการที่เป็นระบบ มีเหตุมีผลเชื่อถือได้
ความเชื่อเรื่องขององค์ความรู้ ความจริงตรงกับปรัชญาที่ว่า อภิปรัชญา(Metaphysics) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะ (Reality Essence) มีปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Metaphysics คือ Ontology แปลว่า ภววิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมี (being) ศาสตร์ทั้งสองนี้มีความเกี่ยวข้องกันเพราะว่า Metaphysics คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะว่ามีจริงหรือไม่ Ontology ก็ศึกษาเรื่องความมีอยู่ของความแท้จริง หรือสารัตถะนั้นเป็นจริงอย่างไรโดยทั่วไปถือว่าศาสตร์ทั้งสองนี้ศึกษาเรื่องเดียวกัน คือ ความมีอยู่ของความแท้จริง หรือความแท้จริงที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศาสตร์ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน
อภิปรัชญาเมื่อพิจารณาตามรูปศัพท์ อภิปรัชญามาจากคำว่า “อภิ” หมายถึง ความยิ่งใหญ่ สูงสุด เหนือสุด และปรัชญาหมายถึงความรู้อันประเสริฐเมื่อรวมเข้าด้วยกัน “อภิปรัชญา” จึงหมายถึง ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเห็นทั่วๆ ไป หรือความรู้ที่อยู่นอกเหนือการรู้เห็นใดๆ แต่สามารถรู้และเข้าใจด้วยเหตุผล
กล่าวโดยสรุปคือ อภิปรัชญาเป็นปรัชญาบริสุทธิ์สาขาแรกที่เกิดขึ้นมาในโลกเกิดจากความประหลาดใจ และความสงสัยของมนุษย์สมัยโบราณ ที่มีต่อ ปรากฏการณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจากความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์นี้เองทำให้มนุษย์ต้องสืบหาสาเหตุของความเป็นจริงเหล่านั้นซึ่งคำตอบที่ได้อาจถูกบ้างผิดบ้างจนในที่สุดก็ได้คำตอบที่ถูกต้อง จากคำตอบที่ถูกต้องนี้แหละคือความรู้ทางอภิปรัชญา แม้จะแยกย่อยเป็นจำนวนมากแต่อยู่ในขอบเขตของสาขาใหญ่ๆ 3 สาขาของอภิปรัชญา คือ สสารนิยม จิตนิยม และธรรมชาตินิยม นอกจากอภิปรัชญา 3 สาขาใหญ่แล้ว ยังมีภววิทยาซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญของอภิปรัชญา ซึ่งในศาสตร์ของภววิทยานี้ได้แยกออกเป็น 3 ทฤษฎี คือ เอกนิยม ทวินิยม และพหุนิยม อภิปรัชญาถือว่าเป็นหลักของโครงสร้างของวิชาปรัชญา ถ้าขาดอภิปรัชญาเสียแล้ว ปรัชญาก็มีไม่ได้ ดังนั้นในการนำเอาปรัชญาไปประยุกต์ใช้จำเป็นต้องยึดโครงสร้างอภิปรัชญาเป็นหลักสำคัญ
การค้นพบความรู้ความจริงตรงกับปรัชญาที่ว่า ญาณวิทยา(Epistemology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยรูปแบบของความรู้ พัฒนาการและขอบเขตของความรู้ ญาณวิทยาตามศัพท์หมายความว่า ศาสตร์แห่งความรู้ (Science of knowledge) เป็นคำที่ประกอบขึ้นด้วย คำ 2 คำ คือ Episteme ซึ่งหมายความว่า ความรู้กับคำว่า Logos ซึ่งมีความหมายว่าศาสตร์
ญาณวิทยามีลักษณะเหมือนกับจิตวิทยา (ว่าด้วยการรับรู้) ประการหนึ่งคือ เป็นศาสตร์ที่ไม่พูดถึงหน้าที่ของความรู้ ฉะนั้นจึงทำหน้าที่ไม่เหมือนกับตรรกศาสตร์ (ว่าด้วยความจริงของความรู้) สาระสำคัญของญาณวิทยาก็คือ ศึกษาเรื่องกำเนิดความรู้ เนื้อหาของญาณวิทยาก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการ วิธีการ วัตถุประสงค์ ลักษณะ เงื่อนไข ความมีเหตุผล และความคลาดเคลื่อนของความรู้ ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าความจริงแล้วญาณวิทยาเป็นการ “อภิปรายปัญหาเกี่ยวกับความรู้ในแง่ปรัชญา” โดยเอาวิธีการของปรัชญาคือ วิธีนิรนัย วิธีอุปนัย วิธีวิเคราะห์ และวิธีสังเคราะห์ มาใช้ในการอภิปราย ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง และมีทัศนะแบบปรัชญา คือ เป็นอิสระ ใจกว้าง ใคร่ครวญอย่างไม่ลดละโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานคือ ประสบการณ์และการคิดหาเหตุผล ทฤษฎีบ่อเกิดความรู้ทางญาณวิทยา คือ เหตุผลนิยม (Rationalism) ประจักษ์นิยม (Empiricism) เพทนาการนิยม (Sensationism) อนุมาณนิยม (Adriorism) อัชฌัติกญาณนิยม (Inguitionism) และทฤษฎีธรรมชาติของความรู้ คือ จิตนิยม (Idealism) สัจนิยม (Realism) ปฏิบัตินิยม (Pragmatism)
กล่าวโดยสรุปคือ ญาณวิทยาเป็นเรื่องที่ศึกษาถึงลักษณะเด่นของความเป็นมนุษย์เหนือกว่าสัตว์โลกประเภทอื่นก็คือ รู้จักคิด ทำให้มนุษย์มีความรู้ มีสติปัญญาที่ล้ำเลิศ จนสามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวรุดหน้าไปไกลกว่าสัตว์มากมายในทุกๆ ด้าน นี่คือภารกิจของญาณวิทยานั้นเอง ญาณวิทยาจึงเป็นปรัชญาบริสุทธิ์อีกสาขาหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะการที่คนเราจะรู้เข้าใจความจริง (อภิปรัชญา) ได้นั้นก็ต้องอาศัยญาณวิทยาสืบค้นหาความจริงทำการศึกษาวิเคราะห์ เรื่องราวของความรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น บ่อเกิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ เป็นต้น
วิธีวิทยา (methodology) หมายถึง ขั้นตอนวิธี แบบแผนของการหาความรู้ความจริงที่เชื่อถือได้และการคาดการณ์อย่างมีหลักการ

ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
isc.ru.ac.th/data/ED0000741.doc -
isc.ru.ac.th/data/ED0000742.doc -

Technology in education & Technology of education

ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
ถ้ากล่าวถึงเทคโนโลยีการศึกษา หลายคนคงมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาไปในแนวทางที่แตกต่างกัน เช่น
- เทคโนโลยีการศึกษาหมายถึงการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ในการศึกษาเพื่อทำให้การจัดการศึกษาดีขึ้น
- เทคโนโลยีการศึกษาจะต้องมีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่สลับซับซ้อน จะต้องมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก จะต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องมือ อิเล็กทรอนิคส์
โดยความเป็นจริงแล้ว กรอบความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษานั้นมีการพัฒนามาโดยตลอด ในระยะแรกอาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีการศึกษามักมีภาพยึดติดอยู่กับอุปกรณ์หรือเครื่องมือเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาความคิดตลอดจนมีการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาเทคโนโลยีการศึกษามากขึ้น ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษามีความเปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นความสำคัญของวิธีระบบมากขึ้น แนวคิดเกี่ยวกับความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาอาจแบ่งไดเป็น 2 แนวคิดหลัก ดังนี้
1. Technology in education (หรือ Tools technology)
Technology in education หมายถึงวิธีการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการนำเสนอเนื้อหาสาระทางการศึกษาหรือการฝึกอบรม ได้แก่ โทรทัศน์ ห้องปฏิบัติการภาษา เครื่องฉายประเภทต่าง ๆ ( หรือที่เรียกว่า สื่อการสอน) หรือแม้กระทั่งสื่อสมัยใหม่ที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของนักวิทยาศาสตร์ที่มีความมุ่งหมายของการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือดังกล่าวขึ้นเพื่อเอาชนะอุปสรรค ปัญหาในการสื่อสารของมนุษย์ ซึ่งผลจากการประดิษฐ์คิดค้นนั้นทำให้เกิดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ หรือวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ มากมาย อาทิ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร เครื่องขยายเสียง คอมพิวเตอร์และอื่นๆ อีกมากมาย แล้วต่อมานักการศึกษา หรือครู อาจารย์ต้องนำเอาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นเข้ามาใช้โนการเรียนการสอน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์เครื่องมือต่างๆ ออกมาได้แล้ว นักการศึกษาก็มาพิจารณาว่าเครื่องมือดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ช่วยแก้ปัญหาตรงจุดใดของการศึกษาได้บ้าง ความคิดหรือความเข้าใจในความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ เรียกอีกนัยหนึ่งว่าเทคโนโลยีในการศึกษา (Technology in education) (เปรื่อง กุมุท, 2520, หน้า 2)
อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และกายภาพซึ่งหมายถึงการประยุกต์ผลิตผลของวิทยาศาสตร์ อาทิ ชอล์ก กระดาษ ปากกา ฯลฯ และผลิตผลทางวิศวกรรม อาทิ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องบันทึกภาพโทรทัศน์ ฯลฯ มาใช้ในการเรียนรู้ของนักเขียนเป็นกลุ่มใหญ่ การพิจารณาสื่อการสอนจึงมักไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังนั้น ทำให้บทบาทของเทคโนโลยีทางการศึกษา ต่อการศึกษาแคบลงไปเพียงแค่วัสดุอุปกรณ์ แต่ไม่เน้นวิธีการหรือปฏิกิริยาสัมพันธ์อื่นๆ (มนตรี แย้มกสิกร, 2547, หน้า 32 อ้างอิงจาก ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2523, หน้า 17)
2. Technology of education Technology of education (หรือ System technology)
Technology of education หมายถึง เป็นการนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ อักทั้งวัสดุ และวิธีการมาผสมผสานกัน เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สาขาวิชานี้ได้กล่าวถึงการนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ อีกทั้งบรรดาวัสดุ และวิธีการมาผสมผสานกัน เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวมีจุดประสงค์หลายประการด้วยกัน เช่น
- เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพของการเรียน และผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้
- ลดเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ให้น้อยลง
- เพิ่มประสิทธิภาพของผู้สอนให้มีความสามารถต่อการสอนผู้เรียนที่มีปริมาณมากขึ้นโดยที่ไม่ทำให้การเรียนรู้ด้อยคุณภาพลง
- ลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง โดยไม่กระทบกระเทือนคุณภาพของการเรียน
เป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
การพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาที่ใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อุตสาหกรรม นั้น จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายดังนี้
1. ขยายขอบเขตของทรัพยากรการเรียนรู้ต่างๆ ให้กว้างขวางออกไป โดยคำนึงถึง
1) คน กำหนดให้คนเป็นแหล่งทรัพยากรเรียนรู้ที่สำคัญ เช่น ครู ตำรวจ เกษตรกร
2) วัสดุเครื่องมือ ประเภทโสตทัศนูปกรณ์ รวมทั้งการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษาให้มากขึ้น
3) เทคนิคการสอน ที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
4) สถานที่ต่าง ๆ ให้สามารถเป็นแหล่งประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ไร่นา ทะเล องค์การรัฐบาล
2. เน้นการเรียนแบบเอกัตบุคคล โดยการจัดหาสื่อเพื่อสนองความต้องการ และ ความแตกต่างระหว่างบุคคล
3. การนำวิธีวิเคราะห์ระบบการศึกษา โดยใช้การปฏิบัติหรือการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบมาใช้ในการเรียนการสอน


ขอบคุณที่มาของข้อมูล
www.edu.nu.ac.th/wbi/355201/
http://pichet.111.kroobannok.com/1576
http://www.nrru.ac.th/preelearning/rungrot/page01008.asp
เปรื่อง กุมุท. (2520). เอกสารประกอบคำบรรยายวิชา การวิจัยและเทคโนโลยีทางการศึกษา.
ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรมนตรี แย้มกสิกร. (2547). การวิจัยและทฤษฎีเทคโนโลยีการศึกษา. ชลบุรี: ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

จุดตั้งต้นของการพัฒนาการศึกษาไทย

“..งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติเพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของชาติเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก ถ้าหากยังคงเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไปเราอาจจะเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากสาเหตุอื่นแล้ว ต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาอย่างแน่นอน เราต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น…”
(พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของวิทยาลัยวิชาการประสานมิตร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2512)
จากพระราชดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นถึงพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นคุณค่าและมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาของประเทศเพื่อสร้างให้เกิดความเจริญแก่พสกนิกรทั้งปวง จะเห็นได้ว่าการศึกษามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนเป็นพื้นฐานของการพัฒนาส่วนอื่นๆด้วย เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน ดังนั้นการพัฒนาคนสามารถทำได้หลายรูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ
ปัญหาการศึกษาไทยมีหลายประการไม่ว่าจะเป็น ในด้านเกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลหลายยุคยังให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาในระดับรองเมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆ ความจริงแล้วเรื่องการศึกษาถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งมีข้อที่น่าสังเกตว่าผู้ที่จะมารับผิดชอบดูแลการศึกษาของชาติกลับกลายเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีความรู้มีความเข้าใจงานด้านการศึกษา หรือมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการศึกษาไม่มากนัก กล่าวคืออาจมีความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพอื่น แต่เมื่อมารับผิดชอบงานทางด้านการศึกษากลับไม่สามารถกำกับดูแล และกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และนโยบายการศึกษาของชาติได้ ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาและแนวทางการปฏิบัติกับบุคลากรทางการศึกษา ทั้งๆที่ในวงการศึกษามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างมากมาย ในด้านผู้ปฏิบัติ อันดับแรกก็ต้องนึกถึงครู ผู้ให้ความรู้ ประสิทธิประสาทวิชา เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับนักเรียน สำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่าในอดีตนั้นอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ มีเกียรติ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คณะที่จบออกมาเป็นครูนั้น นักเรียนจะให้ความสำคัญน้อย เลือกเป็นอันดับท้ายๆ หรือสอบเข้าอะไรไม่ได้จึงต้องไปเรียนครู ได้ยินคนในสังคมกล่าวกันอย่างนั้น ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาเพื่อเป็นครูจริงๆ มีน้อยลงทุกวัน เมื่อไม่มีจิตวิญญาณในการเป็นครูแล้ว การจะสอนให้ได้ประสิทธิภาพดีก็น้อยลงตามความสำคัญ จะทำอย่างไรให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครูและต้องการเป็นครู เลือกคณะครูเป็นอันดับแรกๆ และสิ่งที่ตอกย้ำลงไปอีกคือครูจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ที่มีหนี้สินมาก เนื่องมาจากค่าตอบแทนจากอาชีพการเป็นครูน้อย ไม่เพียงพอต่อการครองชีพกับสังคมปัจจุบัน ทำให้ครูส่วนหนึ่งสนใจที่จะหารายได้เลี้ยงครอบครัวมากกว่าการสอนหนังสือ เช่นการสอนพิเศษ ตั้งใจทำอาชีพเสริมมากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณที่เหลืออยู่น้อยแล้ว ยังมีเรื่องของการประเมินผล ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพโดยเฉพาะการเลื่อนวิทยฐานะไม่ได้วัดจากความสำเร็จของนักเรียน แต่วัดจากผลงานทางวิชาการ ดังนั้นครูบางส่วนจึงสนใจที่จะทำผลงานทางวิชาการมากกว่าการสอนเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้จริง ๆ ครูจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาไทยพัฒนาได้ช้า
จุดตั้งต้นในการที่จะพัฒนาการศึกษาไทยนั้นควรเป็นแบบสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาคือ ทุกภาคส่วนต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน ในส่วนของครอบครัวอาจจะถือได้ว่าเป็นลำดับแรกในการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก โดยผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กเป็นคนรักการเรียนรู้ เคียงคู่ไปกับการสอนให้มีคุณธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการต้องพัฒนาผู้บริหารการศึกษา บุคลาการทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนให้มีความรู้ความสามารถในการที่จะถ่ายทอดความรู้และดูแลเอาใจใส่นักเรียนให้เต็มที่ พัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุมเนื้อหาและเหมาะสมกับท้องถิ่นของตน สุดท้ายในส่วนของรัฐบาลจะต้องทุ่มเท เอาจริงเอาจัง และปฏิบัติงานด้วยความต่อเนื่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่ควรเปลี่ยนไปหลายคนเพราะจะทำให้นโยบายด้านการศึกษาปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้การพัฒนาได้ผลล่าช้ายิ่งขึ้น อีกทั้งต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น สื่อมวลชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อควบคุมดูแลคุณภาพการศึกษา การจัดการศึกษา การป้องกันที่อาจเกิดความเสื่อมเสียทางการศึกษา พร้อมทั้งออกกฎหมายที่ชัดเจนใช้อย่างเด็ดขาด ไม่ซับซ้อนต่อการปฏิบัติงาน หากทุกภาคส่วนสามารถพัฒนาร่วมกันได้เช่นนี้ เชื่อว่าการศึกษาไทยคงจะพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน


ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
ความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา. ค้นจาก http://ku005.multiply.com/journal/item/28
อาภรณ์ รัตน์มณี. ทำไมการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า. ค้นจาก http://school8.education.police.go.th/
technical/technical05.html.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. จอมปราชญ์นักการศึกษา : สังเคราะห์ วิเคราะ และประยุกต์แนวพระราชดำรัส ด้านการศึกษาและการพัฒนาคน. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2543.