วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จุดตั้งต้นของการพัฒนาการศึกษาไทย

“..งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติเพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของชาติเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก ถ้าหากยังคงเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไปเราอาจจะเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากสาเหตุอื่นแล้ว ต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาอย่างแน่นอน เราต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น…”
(พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของวิทยาลัยวิชาการประสานมิตร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2512)
จากพระราชดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นถึงพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นคุณค่าและมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาของประเทศเพื่อสร้างให้เกิดความเจริญแก่พสกนิกรทั้งปวง จะเห็นได้ว่าการศึกษามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนเป็นพื้นฐานของการพัฒนาส่วนอื่นๆด้วย เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน ดังนั้นการพัฒนาคนสามารถทำได้หลายรูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ
ปัญหาการศึกษาไทยมีหลายประการไม่ว่าจะเป็น ในด้านเกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลหลายยุคยังให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาในระดับรองเมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆ ความจริงแล้วเรื่องการศึกษาถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งมีข้อที่น่าสังเกตว่าผู้ที่จะมารับผิดชอบดูแลการศึกษาของชาติกลับกลายเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีความรู้มีความเข้าใจงานด้านการศึกษา หรือมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการศึกษาไม่มากนัก กล่าวคืออาจมีความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพอื่น แต่เมื่อมารับผิดชอบงานทางด้านการศึกษากลับไม่สามารถกำกับดูแล และกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และนโยบายการศึกษาของชาติได้ ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาและแนวทางการปฏิบัติกับบุคลากรทางการศึกษา ทั้งๆที่ในวงการศึกษามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างมากมาย ในด้านผู้ปฏิบัติ อันดับแรกก็ต้องนึกถึงครู ผู้ให้ความรู้ ประสิทธิประสาทวิชา เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับนักเรียน สำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่าในอดีตนั้นอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ มีเกียรติ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คณะที่จบออกมาเป็นครูนั้น นักเรียนจะให้ความสำคัญน้อย เลือกเป็นอันดับท้ายๆ หรือสอบเข้าอะไรไม่ได้จึงต้องไปเรียนครู ได้ยินคนในสังคมกล่าวกันอย่างนั้น ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาเพื่อเป็นครูจริงๆ มีน้อยลงทุกวัน เมื่อไม่มีจิตวิญญาณในการเป็นครูแล้ว การจะสอนให้ได้ประสิทธิภาพดีก็น้อยลงตามความสำคัญ จะทำอย่างไรให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครูและต้องการเป็นครู เลือกคณะครูเป็นอันดับแรกๆ และสิ่งที่ตอกย้ำลงไปอีกคือครูจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ที่มีหนี้สินมาก เนื่องมาจากค่าตอบแทนจากอาชีพการเป็นครูน้อย ไม่เพียงพอต่อการครองชีพกับสังคมปัจจุบัน ทำให้ครูส่วนหนึ่งสนใจที่จะหารายได้เลี้ยงครอบครัวมากกว่าการสอนหนังสือ เช่นการสอนพิเศษ ตั้งใจทำอาชีพเสริมมากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณที่เหลืออยู่น้อยแล้ว ยังมีเรื่องของการประเมินผล ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพโดยเฉพาะการเลื่อนวิทยฐานะไม่ได้วัดจากความสำเร็จของนักเรียน แต่วัดจากผลงานทางวิชาการ ดังนั้นครูบางส่วนจึงสนใจที่จะทำผลงานทางวิชาการมากกว่าการสอนเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้จริง ๆ ครูจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาไทยพัฒนาได้ช้า
จุดตั้งต้นในการที่จะพัฒนาการศึกษาไทยนั้นควรเป็นแบบสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาคือ ทุกภาคส่วนต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน ในส่วนของครอบครัวอาจจะถือได้ว่าเป็นลำดับแรกในการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก โดยผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กเป็นคนรักการเรียนรู้ เคียงคู่ไปกับการสอนให้มีคุณธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการต้องพัฒนาผู้บริหารการศึกษา บุคลาการทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนให้มีความรู้ความสามารถในการที่จะถ่ายทอดความรู้และดูแลเอาใจใส่นักเรียนให้เต็มที่ พัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุมเนื้อหาและเหมาะสมกับท้องถิ่นของตน สุดท้ายในส่วนของรัฐบาลจะต้องทุ่มเท เอาจริงเอาจัง และปฏิบัติงานด้วยความต่อเนื่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่ควรเปลี่ยนไปหลายคนเพราะจะทำให้นโยบายด้านการศึกษาปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้การพัฒนาได้ผลล่าช้ายิ่งขึ้น อีกทั้งต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น สื่อมวลชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อควบคุมดูแลคุณภาพการศึกษา การจัดการศึกษา การป้องกันที่อาจเกิดความเสื่อมเสียทางการศึกษา พร้อมทั้งออกกฎหมายที่ชัดเจนใช้อย่างเด็ดขาด ไม่ซับซ้อนต่อการปฏิบัติงาน หากทุกภาคส่วนสามารถพัฒนาร่วมกันได้เช่นนี้ เชื่อว่าการศึกษาไทยคงจะพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน


ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
ความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา. ค้นจาก http://ku005.multiply.com/journal/item/28
อาภรณ์ รัตน์มณี. ทำไมการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า. ค้นจาก http://school8.education.police.go.th/
technical/technical05.html.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. จอมปราชญ์นักการศึกษา : สังเคราะห์ วิเคราะ และประยุกต์แนวพระราชดำรัส ด้านการศึกษาและการพัฒนาคน. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2543.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น