วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การวิจัย

การวิจัย หมายถึง การค้นหาความรู้ความจริงด้วยวิธีการที่เป็นระบบ มีเหตุมีผลเชื่อถือได้
ความเชื่อเรื่องขององค์ความรู้ ความจริงตรงกับปรัชญาที่ว่า อภิปรัชญา(Metaphysics) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะ (Reality Essence) มีปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Metaphysics คือ Ontology แปลว่า ภววิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมี (being) ศาสตร์ทั้งสองนี้มีความเกี่ยวข้องกันเพราะว่า Metaphysics คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะว่ามีจริงหรือไม่ Ontology ก็ศึกษาเรื่องความมีอยู่ของความแท้จริง หรือสารัตถะนั้นเป็นจริงอย่างไรโดยทั่วไปถือว่าศาสตร์ทั้งสองนี้ศึกษาเรื่องเดียวกัน คือ ความมีอยู่ของความแท้จริง หรือความแท้จริงที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศาสตร์ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน
อภิปรัชญาเมื่อพิจารณาตามรูปศัพท์ อภิปรัชญามาจากคำว่า “อภิ” หมายถึง ความยิ่งใหญ่ สูงสุด เหนือสุด และปรัชญาหมายถึงความรู้อันประเสริฐเมื่อรวมเข้าด้วยกัน “อภิปรัชญา” จึงหมายถึง ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเห็นทั่วๆ ไป หรือความรู้ที่อยู่นอกเหนือการรู้เห็นใดๆ แต่สามารถรู้และเข้าใจด้วยเหตุผล
กล่าวโดยสรุปคือ อภิปรัชญาเป็นปรัชญาบริสุทธิ์สาขาแรกที่เกิดขึ้นมาในโลกเกิดจากความประหลาดใจ และความสงสัยของมนุษย์สมัยโบราณ ที่มีต่อ ปรากฏการณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจากความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์นี้เองทำให้มนุษย์ต้องสืบหาสาเหตุของความเป็นจริงเหล่านั้นซึ่งคำตอบที่ได้อาจถูกบ้างผิดบ้างจนในที่สุดก็ได้คำตอบที่ถูกต้อง จากคำตอบที่ถูกต้องนี้แหละคือความรู้ทางอภิปรัชญา แม้จะแยกย่อยเป็นจำนวนมากแต่อยู่ในขอบเขตของสาขาใหญ่ๆ 3 สาขาของอภิปรัชญา คือ สสารนิยม จิตนิยม และธรรมชาตินิยม นอกจากอภิปรัชญา 3 สาขาใหญ่แล้ว ยังมีภววิทยาซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญของอภิปรัชญา ซึ่งในศาสตร์ของภววิทยานี้ได้แยกออกเป็น 3 ทฤษฎี คือ เอกนิยม ทวินิยม และพหุนิยม อภิปรัชญาถือว่าเป็นหลักของโครงสร้างของวิชาปรัชญา ถ้าขาดอภิปรัชญาเสียแล้ว ปรัชญาก็มีไม่ได้ ดังนั้นในการนำเอาปรัชญาไปประยุกต์ใช้จำเป็นต้องยึดโครงสร้างอภิปรัชญาเป็นหลักสำคัญ
การค้นพบความรู้ความจริงตรงกับปรัชญาที่ว่า ญาณวิทยา(Epistemology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยรูปแบบของความรู้ พัฒนาการและขอบเขตของความรู้ ญาณวิทยาตามศัพท์หมายความว่า ศาสตร์แห่งความรู้ (Science of knowledge) เป็นคำที่ประกอบขึ้นด้วย คำ 2 คำ คือ Episteme ซึ่งหมายความว่า ความรู้กับคำว่า Logos ซึ่งมีความหมายว่าศาสตร์
ญาณวิทยามีลักษณะเหมือนกับจิตวิทยา (ว่าด้วยการรับรู้) ประการหนึ่งคือ เป็นศาสตร์ที่ไม่พูดถึงหน้าที่ของความรู้ ฉะนั้นจึงทำหน้าที่ไม่เหมือนกับตรรกศาสตร์ (ว่าด้วยความจริงของความรู้) สาระสำคัญของญาณวิทยาก็คือ ศึกษาเรื่องกำเนิดความรู้ เนื้อหาของญาณวิทยาก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการ วิธีการ วัตถุประสงค์ ลักษณะ เงื่อนไข ความมีเหตุผล และความคลาดเคลื่อนของความรู้ ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าความจริงแล้วญาณวิทยาเป็นการ “อภิปรายปัญหาเกี่ยวกับความรู้ในแง่ปรัชญา” โดยเอาวิธีการของปรัชญาคือ วิธีนิรนัย วิธีอุปนัย วิธีวิเคราะห์ และวิธีสังเคราะห์ มาใช้ในการอภิปราย ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง และมีทัศนะแบบปรัชญา คือ เป็นอิสระ ใจกว้าง ใคร่ครวญอย่างไม่ลดละโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานคือ ประสบการณ์และการคิดหาเหตุผล ทฤษฎีบ่อเกิดความรู้ทางญาณวิทยา คือ เหตุผลนิยม (Rationalism) ประจักษ์นิยม (Empiricism) เพทนาการนิยม (Sensationism) อนุมาณนิยม (Adriorism) อัชฌัติกญาณนิยม (Inguitionism) และทฤษฎีธรรมชาติของความรู้ คือ จิตนิยม (Idealism) สัจนิยม (Realism) ปฏิบัตินิยม (Pragmatism)
กล่าวโดยสรุปคือ ญาณวิทยาเป็นเรื่องที่ศึกษาถึงลักษณะเด่นของความเป็นมนุษย์เหนือกว่าสัตว์โลกประเภทอื่นก็คือ รู้จักคิด ทำให้มนุษย์มีความรู้ มีสติปัญญาที่ล้ำเลิศ จนสามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวรุดหน้าไปไกลกว่าสัตว์มากมายในทุกๆ ด้าน นี่คือภารกิจของญาณวิทยานั้นเอง ญาณวิทยาจึงเป็นปรัชญาบริสุทธิ์อีกสาขาหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะการที่คนเราจะรู้เข้าใจความจริง (อภิปรัชญา) ได้นั้นก็ต้องอาศัยญาณวิทยาสืบค้นหาความจริงทำการศึกษาวิเคราะห์ เรื่องราวของความรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น บ่อเกิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ เป็นต้น
วิธีวิทยา (methodology) หมายถึง ขั้นตอนวิธี แบบแผนของการหาความรู้ความจริงที่เชื่อถือได้และการคาดการณ์อย่างมีหลักการ

ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
isc.ru.ac.th/data/ED0000741.doc -
isc.ru.ac.th/data/ED0000742.doc -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น